วันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๖๘ พระธรรมวชิรจินดาภรณ์, รศ.ดร. อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร คณาจารย์และเจ้าหน้าที่ ร่วมกิจกรรมวันวิสาขบูชานานาชาติ วันสำคัญสากลของโลก ครั้งที่ ๒๐ ภายใต้แนวคิด “ความสามัคคีและการโอบรับความหลากหลายเพื่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์: พุทธปัญญาเพื่อสันติภาพโลกและการพัฒนาที่ยั่งยืน“ พิธีเฉลิมฉลอง วันวิสาขบูชา วันสำคัญสากลของโลก ครั้งที่ ๒๐
UNITED NATIONS DAY OF VESAK ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพฯ
โอกาสนี้ พระธรรมวชิรจินดาภรณ์, รศ.ดร. อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ได้รับอาราธนาให้ร่วมกล่าวสุนทรพจน์ความตอนหนึ่งว่า
“ในโอกาสวันวิสาขบูชาวันสำคัญสากลของโลก ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๘ เวียนมาบรรจบอีกคำรบหนึ่ง ถือเป็นเกียรติและยินดีอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสมาร่วมรำลึกถึงการประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พร้อมกับท่านทั้งหลาย ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ภายใต้การจัดงานโดยสภาสากลวันวิสาขบูชาโลก ถือเป็นเครื่องยืนยันว่าพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ยังคงเป็นแสงสว่างนำทางมนุษยชาติบนเวทีสากลเสมอ
หัวข้อในการเฉลิมฉลองวันวิสาขบูชาวันสำคัญสากลของโลกปีนี้คือ “ความสำคัญและการยอมรับความหลากหลายเพื่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์:
พุทธปัญญาเพื่อสันติภาพโลกและการพัฒนาที่ยั่งยืน” เน้นย้ำให้เราเห็นคุณค่าของความหลากหลายทางวัฒนธรรม ความเชื่อ และวิถีชีวิตของผู้คนทั่วโลก ว่าความแตกต่างมิใช่อุปสรรค หากคือความงดงามที่ทำให้มนุษยชาติของเราสมบูรณ์
พระพุทธศาสนาเสนอแนวทางในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติภายใต้ความหลากหลาย ทุกชีวิตล้วนพึ่งพาอาศัยกัน ไม่มีสิ่งใดดำรงอยู่โดยลำพัง เมื่อเราตระหนักว่าเราทุกคนเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันอย่างลึกซึ้ง ความเห็นอกเห็นใจและการเคารพในกันและกัน ย่อมเกิดขึ้น
หลักธรรมมีพรหมวิหาร ๔ เป็นต้น เป็นคุณธรรมสำคัญที่เกื้อหนุนสังคมอันสงบสุข ได้แก่ เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา เมื่อมนุษย์มีเมตตาและความเข้าใจซึ่งกันและกัน เราจะไม่ดูหมิ่นผู้ที่แตกต่าง ไม่อิจฉาเมื่อผู้อื่นได้ดี และรู้จักวางใจเป็นกลางบนพื้นฐาน แห่งปัญญา
อีกทั้ง อริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นแนวทางแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งในระดับปัจเจกและสังคม ตั้งแต่ความเห็นชอบ การพูดชอบ การกระทำชอบ ไปจนถึงสมาธิชอบ แนวทางเหล่านี้หากนำไปใช้ในการดำเนินชีวิต จะทำให้เกิดความเข้าใจอันดีต่อกัน และนำไปสู่สังคมที่เปี่ยมด้วยเมตตาธรรม ปรากฏเป็น “ความสามัคคีในความหลากหลาย“
ช่วยหล่อหลอมให้เกิดความเข้าใจอันดีระหว่างมนุษย์ ผู้คนหันมายอมรับเรียนรู้จากความต่างแทนที่จะหวาดระแวงกัน ดังพุทธภาษิตที่ว่า “พึงชนะคนโกรธด้วยความไม่โกรธ พึงชนะคนไม่ดีด้วยความดี” เราสามารถเอาชนะอคติและความบาดหมางด้วยจิตใที่เปี่ยมไปด้วยเมตตาและขันติ”
ภาพ : กองเทคโนโลยีสารสนเทศ
ข่าว : ฝ่ายสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย