เจ้าพระคุณ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช มีพระบัญชาโปรดให้ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ เป็นผู้แทนพระองค์ไปเป็นประธานในพิธีเททองหล่อพระพุทธวิชชาจรณุตตมมงคล พระพุทธรูปประจำอาคารปฏิบัติธรรม มมร

วันศุกร์ ที่ ๓ มีนาคม ๒๕๖๖ เจ้าพระคุณ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เสด็จออกตำหนักอรุณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ประทานพระวโรกาสให้พระเทพวัชรเมธี อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยเฝ้า รับประทานแผ่นทอง เพื่อเชิญไปประกอบพิธีเททองหล่อพระพุทธรูปประจำอาคารปฏิบัติธรรม ซึ่งมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยขอประทานพระอนุญาตจัดสร้าง

เจ้าพระคุณ สมเด็จพระสังฆราช ประทานนามพระพุทธรูปดังกล่าวว่า “พระพุทธวิชชาจรณุตตมมงคล” มีความหมายว่า “พระพุทธเจ้าผู้ทรงถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ โปรดประทานธรรมอันนำมาซึ่งความเจริญสูงสุด” พร้อมกันนี้ ประทานพระอนุญาตให้ประดิษฐานตราสัญลักษณ์งานฉลองพระชนมายุ ๘ รอบ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ๒๖ มิถุนายน ๒๕๖๖ บนผ้าทิพย์ที่ฐานพระพุทธวิชชาจรณุตตมมงคล เป็นปฐมฤกษ์แห่งการเชิญตราสัญลักษณ์ดังกล่าวประดิษฐานบนถาวรวัตถุที่ระลึก

จากนั้น มีพระบัญชาโปรดให้ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ เป็นผู้แทนพระองค์ไปเป็นประธานในพิธีเททองหล่อพระพุทธวิชชาจรณุตตมมงคล ณ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม และโปรดให้เชิญพระสัมโมทนียกถา เนื่องในโอกาสที่มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย จัดตั้งสถาบันกรรมฐานศึกษาสมเด็จพระสังฆราช (อมฺพรมหาเถร) ในพระสังฆราชูปถัมภ์ ประทานไปอ่าน ความตอนหนึ่งว่า

“ขออนุโมทนาสาธุการ ที่ท่านทั้งหลายพร้อมเพรียงกันก่อตั้งสถาบันกรรมฐานศึกษาขึ้น ในมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย เพื่อเป็นเกียรติแก่อาตมภาพ เนื่องในโอกาสที่จะมีอายุ ๘ รอบนักษัตรในปีนี้

สรรพสิ่งในโลก ซึ่งหมายรวมทั้งชีวิตของเราทุกคน ล้วนประกอบกันเข้าด้วย ‘รูปธรรม’ และ ‘นามธรรม’ ไม่มีสิ่งใดที่จะเว้นขาดไปจากรูปและนามได้ นอกจากพระนิพพาน เพราะฉะนั้น การยึดมั่นถือมั่นว่ารูปนั้น นามนี้ เป็นตัวเรา เป็นของเรา ย่อมเป็นกระบวนการของโลกียวิสัย ซึ่งก่อให้เกิดความฟุ้งซ่าน คอยยึดหน่วงรั้งไม่ให้ชีวิตสัตว์ทั้งหลายได้ดำเนินเข้าสู่กระแสพระนิพพาน และความวุ่นวายเช่นนี้เองที่บั่นทอนสุขภาวะทางกายและทางจิตของทุกชีวิต

การทำงานของกายก็ดี การทำงานของจิตก็ดี สำหรับมนุษย์ผู้ปรารถนาสันติสุข จึงจำเป็นต้องมี ‘ฐาน’ ที่มั่น ที่ยึดถือไว้มิให้เตลิดเลื่อนลอย เดือดร้อนรำคาญไปอย่างไร้จุดหมาย ส่วนการทำงานหรือการกระทำ ในภาษามคธก็เรียกว่า ‘กรรม’

ด้วยเหตุนี้ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงทรงพระมหากรุณาประทานอุบายวิธีแห่ง ‘กรรมฐาน’ ไว้ ให้สรรพชีวิตได้มีฐานที่ตั้งแห่งการกระทำ เป็นกลวิธีเหนี่ยวนำให้เกิดสมาธิและปัญญา การศึกษาอบรมกรรมฐานจึงมีคุณประโยชน์มหาศาล เพราะย่อมจักช่วยนำมาซึ่งความสงบที่แท้จริงของชีวิตปัจเจกบุคคล และของสังคมโลกส่วนรวมได้

กรรมฐานในทางพระพุทธศาสนา สามารถจำแนกออกได้เป็น ๒ สถาน กล่าวคือ ‘สมถกรรมฐาน’ เป็นอุบายข่มกิเลสนิวรณ์ทั้งหลายให้สงบระงับ และ ‘วิปัสสนากรรมฐาน’ เป็นการศึกษาอบรมเพื่อเจริญปัญญา ให้สามารถหยั่งเห็นอาการต่างๆ ที่แท้จริง มีความไม่เที่ยง และไม่อาจควบคุมได้ เป็นต้น

ดังนี้ การศึกษาอบรมกรรมฐานจึงควรดำเนินไปบนวิถีแห่งการงาน ที่เป็นเหตุแห่งการบรรลุธรรมทั้ง ๒ รูปแบบ โดยอาจนำศาสตร์และศิลป์หลากแขนง มาประกอบการศึกษา ค้นคว้า วิจัย เปรียบเทียบ และแสวงหากุศโลบายซึ่งเหมาะสมแก่กาละและเทศะ เพื่อพิสูจน์ความเป็น ‘อกาลิโก’ แห่งพระพุทธศาสนา ให้เป็นที่ประจักษ์แก่ชาวโลกในยุคปัจจุบันได้อย่างกว้างขวางต่อไป

อาตมภาพขอแสดงความชื่นชมยินดีในกุศลเจตนาของทุกท่าน ที่ร่วมกันก่อตั้งสถาบันกรรมฐานศึกษาในนามของอาตมภาพ และจะได้เข้าใช้พื้นที่สถานปฏิบัติธรรม ณ ธรณีสงฆ์วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ที่อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี เป็นสถานที่ทำการฝึกอบรม ก่อให้เกิดคุณูปการต่อชาวโลกอย่างยั่งยืน”

334 จำนวนผู้เข้าชม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ ประกาศ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า
Scroll to Top