มมร จัดพิธีบำเพ็ญพระกุศลคล้ายวันสถาปนามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ปีที่ ๑๒๖

           สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อมฺพรมหาเถร) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก นายกสภามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย มีพระบัญชาโปรดให้  สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อคฺคชินเถร) อุปนายกสภามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย เป็นผู้แทนพระองค์มาในพิธีบำเพ็ญพระกุศลคล้ายวันสถาปนามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ปีที่ ๑๒๖ และประทานใบกำกับเครื่องราชอิสริยาภรณ์แก่บุคลากรจำนวน ๓๕ ราย อีกทั้งยังประทานทุนการศึกษาแก่นักศึกษาจำนวน ๒๓๕ รูป/คน และประทานสัมโมทนียกถา เมื่อวันอังคาร ที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๖๒   ณ  อาคารธรรมสถานสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ  สมเด็จพระสังฆรา  (จวน อุฏฺฐายี)  มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม

    พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงสถาปนาขึ้น เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๓๖  ซึ่งเป็นวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ พร้อมกับพระราชทานนามว่า “มหามกุฏราชวิทยาลัย” เพื่อถวายเป็นพระบรมราชานุสรณีย์เฉลิมพระเกียรติแด่สมเด็จพระบรมชนกนาถ ผู้ทรงเป็นพระอัจฉริยภาพด้านพระพุทธศาสนาอย่างหาที่สุดมิได้

       มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยนับแต่ทรงสถาปนาได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณและรับประทานพระกรุณาคุณอย่างต่อเนื่องนับเป็นกิตติประวัติและมีวิวัฒนาการตามลำดับจำแนกได้ ๓ ยุค พอสังเขป ดังนี้

       ยุคที่ ๑ยุคที่เป็นวิทยาลัย ระหว่าง พ.ศ.๒๔๓๖ ถึง ๒๔๘๘ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตั้งวัตถุประสงค์ของการสถาปนาไว้ความตอนหนึ่งว่า “เพื่อเป็นที่เล่าเรียนศึกษา    พระปริยัติธรรมของภิกษุสามเณร” โดยในยุคนี้อยู่ใต้พระบารมีของเจ้าพระคุณ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ซึ่งเป็นพระน้องยาเธอในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นั้น ทรงเอาพระทัยใส่เรื่องน้อยใหญ่เพื่อวางรากฐานการศึกษาคณะสงฆ์ให้เป็นไปในรูปแบบสมัยใหม่ กล่าวคือ แตกต่างจากการเล่าเรียนภาษาบาลีตามประเพณีแบบเดิม พร้อมกับโปรดประทานพระอนุญาตให้ใช้พื้นที่วัดบวรนิเวศวิหารเป็นที่ตั้งของสถาบันดังกล่าว

       ยุคที่ ๒ยุคที่เป็นมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา ระหว่าง พ.ศ.๒๔๘๙ ถึง ๒๕๔๐              เจ้าพระคุณ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ทรงจัดตั้งเป็นมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา เรียกว่า “สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย” โดยมีพระศรีวิสุทธิญาณ        (สุชีโว ภิกขุ) หรืออาจารย์สุชีพ  ปุญญานุภาพ เป็นเลขาธิการคนแรก นับว่ามีบทบาทสำคัญในการผลักดันสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัยให้ก้าวหน้าในทุก ๆ ด้าน เป็นเหตุให้มีการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบมหาวิทยาลัยขึ้น เมื่อวันที่ ๑๖ กันยายน พ.ศ.๒๔๘๙ โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้

   ๑. เพื่อเป็นสถานศึกษาพระปริยัติธรรมของพระภิกษุสามเณร

        ๒. เพื่อเป็นสถานที่ศึกษาวิทยาการ อันเป็นของชาติภูมิและของต่างประเทศ

        ๓. เพื่อเป็นสถานที่เผยแผ่พระพุทธศาสนา

       ยุคที่ ๓ยุคที่เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ระหว่าง พ.ศ.๒๕๔๐ ถึง ปัจจุบัน ได้มีการตรา “พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย พ.ศ.๒๕๔๐”ขึ้น ให้มหาวิทยาลัยมีฐานะนิติบุคคล มีวัตถุประสงค์ ให้การศึกษา วิจัย ส่งเสริมและให้บริการวิชาการทางพระพุทธศาสนา

แก่พระภิกษุ สามเณร และคฤหัสถ์ รวมทั้งทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม

        มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยได้ดำเนินการพัฒนางานด้านต่าง ๆ ตามแผนกลยุทธ์และพันธกิจอย่างเต็มความสามารถ เพื่อก้าวไปสู่ความเป็นเลิศตามปรัชญาของมหาวิทยาลัยที่ว่า “ความเป็นเลิศทางวิชาการตามแนวพระพุทธศาสนา” จนสามารถผลิตบัณฑิต มหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิต ให้เป็นกำลังสำคัญของพระพุทธศาสนาและประเทศชาติตั้งแต่อดีตตราบจนปัจจุบัน

295 จำนวนผู้เข้าชม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ ประกาศ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า
Scroll to Top